มีผลิตภัณฑ์ Google ยอดฮิตอย่างหนึ่งที่ทำให้ผมรู้สึกแปลกๆ เสมอ ทราบไหมครับว่าประเทศไทยส่งคนเข้าไปใช้ฟีเจอร์ข้อมูลจราจรบน Google Maps มากกว่าใครในโลก
ตัวอย่างเช่น ผลสำรวจเมื่อเร็วๆ นี้ จาก Asian Consumer Commerce Barometer รายงานว่าผู้ใช้อินเทอร์เน็ตชาวไทย 8 ใน 10 คน ค้นหาข้อมูลออนไลน์ก่อนที่จะตัดสินใจซื้อ ไม่ว่าจะซื้อผ่านช่องทางออนไลน์หรือออฟไลน์ก็ตาม ดังนั้น แม้ว่าคนไทยจะอยู่ห่างจากคอมพิวเตอร์ และปิดโทรศัพท์อยู่ การตัดสินใจซื้อก็อยู่ในรูปแบบกิจกรรมออนไลน์นั่นเอง ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ และสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและย่อม (สสว.) ระบุว่ามีเพียง 1 ใน 10 ของผู้ประกอบการธุรกิจชาวไทยที่มีเว็บไซต์ อีก 9 บริษัทที่ไม่มีเว็บไซต์นั้นก็เหมือนกับกำลังโยนข้อมูลของผู้ที่อาจมาเป็นลูกค้านับร้อยรายทิ้งไปเฉยๆ
แล้วทำไมธุรกิจไทยถึงไม่ค่อยมีเว็บไซต์กันล่ะ เมื่อเร็วๆ นี้ Google ได้ร่วมกับพันธมิตรจากภาครัฐและภาคเอกชน เพื่อเปิดตัวแคมเปญใหม่ ที่มีเป้าหมายช่วยพาธุรกิจไทยเข้าสู่โลกออนไลน์ และเราพบว่าความเชื่อมั่นสักนิดก็พาคุณไปได้ไกล เจ้าของธุรกิจมักจะเข้าใจว่า อินเทอร์เน็ตเหมาะสำหรับธุรกิจประเภทอื่น ที่ไม่ใช่ของเรา หรือเหมาะกับคนแบบอื่น พวกที่ทันสมัยใช้มือถือรุ่นใหม่ไฮเทค แต่จริงๆ แล้ว ธุรกิจทุกประเภทก็สามารถใช้อินเทอร์เน็ตให้ทำงานให้คุณได้ เหมือนกับที่ใช้ไฟฟ้านั่นแหละครับ
ลองดูตัวอย่างกัน คุณคิดว่าธุรกิจรับตัดชุดลิเกน่าจะมาเปิดร้านออนไลน์บนอินเทอร์เน็ตไหม หนึ่งในผู้เข้าร่วมโครงการ “ธุรกิจไทย Go Online” ของเราเชื่อว่าธุรกิจนี้เป็นธุรกิจที่อยู่ในโลกออนไลน์ได้ ก่อนที่จะมีเว็บไซต์ เธอคนนี้มีรายได้จากการขายเสื้อผ้าแฮนด์เมดอยู่ที่ 2-3 พันบาทต่อเดือน แต่ความเชื่อมั่นเพียงนิดเดียวได้นำผลตอบแทนเข้ามาอย่างมหาศาล ต้องขอบคุณ “เว็บ” ที่ทำให้ปัจจุบันเธอมีรายได้ถึงหลายแสนบาทต่อเดือน และยังมีลูกค้าใหม่ๆ จากทั่วประเทศ รวมไปถึงแม้แต่แฟนๆ ชาวไทยบางคนในต่างประเทศ กรณีคล้ายกันกับ www.ilovepathai.com ได้ถูกตั้งขึ้นโดยกลุ่มแม่บ้านจากอู่ทอง และมีรายได้เพิ่มขึ้นมากมายจากการใช้โฆษณาผ่านออนไลน์ วันนี้โครงการ “ธุรกิจไทย Go Online” ดำเนินการมาแล้ว 2 เดือน และมีผู้เข้าร่วมโครงการเพื่อสร้างเว็บไซต์ให้ตัวเองกว่า 25,000 ราย
และอินเทอร์เน็ตก็ไม่เพียงแค่ช่วยธุรกิจไทยหาลูกค้าไทย แต่ยังทำให้ธุรกิจไทยกลายเป็นผู้ส่งออกที่มีศักยภาพ หนึ่งในผู้ประกอบการที่ผมประทับใจจากงาน “ธุรกิจไทย Go Online” ที่เพิ่งมีไปเมื่อเร็วๆ นี้เล่าให้ผมฟังว่า เขาใช้โฆษณาออนไลน์จำหน่ายซุปจระเข้สกัด เขาไม่ได้คาดหวังว่าสินค้าพื้นบ้านนี้ จะขายดีเหมือนโค้ก แต่สิ่งมหัศจรรย์ของอินเทอร์เน็ตก็คือ มีคนนับพันจากทุกมุมโลกตั้งตาค้นหาและอยากซื้อสินค้าของคุณ ไม่ว่าสินค้านั้นจะเป็นอะไรก็ตาม เมื่อก่อนนี้คุณคงจะติดต่อเข้าถึงคนเหล่านั้นยาก แต่ ณ วันนี้เพียงแค่ไม่กี่ “คลิก” คุณก็จะพบลูกค้าที่กำลังมองหาซุปจระเข้สกัดที่อยู่ใกล้ๆ คุณ หรือแม้กระทั่งอยู่ต่างประเทศก็ตาม
นอกจากเรื่องเงินแล้ว ก็ยังมีเรื่องของมรดกทางวัฒนธรรมอีกด้วย หนึ่งในผลการสำรวจเมื่อเร็วๆ นี้ ระบุว่า คนไทยมากกว่า 80% ไม่ทราบว่าภาษาไทยมีสระกี่ตัว และกลุ่มวัยรุ่นก็มีปัญหาด้านไวยากรณ์มากที่สุด อินเทอร์เน็ตสามารถช่วยในเรื่องนี้ได้ คนไทยอาจไม่ตระหนักถึงความสำคัญของภาษาไทยมากนักเวลาที่ใช้อินเทอร์เน็ต แต่ทั้งที่เราเป็นประเทศที่มีประชากรมากเป็นอันดับที่ 20 ของโลก กลับมีเนื้อหาภาษาไทยบนอินเทอร์เน็ตเพียง 1% เท่านั้น ผมคิดว่านี่คืออีกตัวอย่างของการพลาดโอกาส และเป็นเหตุผลว่าทำไม Google จึงลงทุนอย่างมากเพื่อสร้างผลิตภัณฑ์ต่างๆ ให้สามารถรองรับภาษาไทยได้
นอกจากนี้ เราก็ยังให้ความสำคัญกับบริการแปลภาษาเพื่อช่วยให้คนไทยสามารถเข้าใจเว็บไซต์ในภาษาอื่นๆ ทั่วโลกได้ และที่ยิ่งไปกว่านั้นก็เพื่อให้เอกสารภาษาไทยได้เผยแพร่ไปทั่วโลก เราไม่อยากให้คนไทยรู้สึกว่าต้องเก่งภาษาอังกฤษจึงจะใช้อินเทอร์เน็ตได้ดีที่สุด แต่ในทางกลับกัน เราอยากให้คนไทยเข้ามาออนไลน์และสร้างโลกอินเทอร์เน็ตในภาษาของเราเองผ่านช่องทางต่างๆ เช่น Google กูรูุ ที่รองรับการถามตอบผ่านเว็บ, Blogger และโปรแกรมต่างๆ เช่น “ธุรกิจไทย Go Online”
ยิ่งคนไทยเข้ามาออนไลน์กันมากเท่าไหร่ เนื้อหาหรือคอนเทนท์ในภาษาไทยก็จะยิ่งเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ยิ่งมีคอนเทนท์ภาษาไทยบนอินเทอร์เน็ตมาก ระบบแปลภาษาของเราก็ยิ่งแปลภาษาไทยได้เก่งขึ้น เพื่อให้นักท่องเที่ยวและนักวิชาการชาวต่างชาติสามารถเข้าถึงได้ และคนไทยเองก้ได้เข้าถึงข้อมูลจากเว็บต่างๆ ในทุกภาษาทั่วโลกด้วย
ขอเพียงทุกคนรวมใจกันผลักดัน ทั้งภาคการเมือง ภาคธุรกิจ ทุกสถาบันการศึกษา และคนไทยทุกคน
ผมขอเสริมว่า ความเชื่อมั่นที่ผู้บริโภคและภาคธุรกิจไทยแสดงออกมานั้น จำเป็นต้องได้รับการตอบรับในแนวทางเดียวกันจากรัฐบาลด้วย อินเทอร์เน็ตของแต่ละประเทศจะเร็วได้แค่ไหนก็ขึ้นอยู่กับเครือข่ายที่สร้างขึ้นมารองรับ Google ทราบดีว่าความเร็วนั้นสร้างความแตกต่างได้อย่างไรบ้าง เราบอกได้จากประสบการณ์ในการสร้างเครื่องมือค้นหาว่า ความล่าช้าแค่เพียงเสี้ยววินาที ก็ทำให้คนเลิกรอ แล้วคลิกหนีไปหาข้อมูลจากที่อื่นแทน เราสร้างเบราว์เซอร์ชื่อ Chrome ขึ้นมาเพื่อทำให้ชีวิตบนเว็บดีขึ้น เร็วขึ้น และปลอดภัยมากขึ้น และเราพบว่า ผู้คนทั่วเอเชียก็ยึดถือหลักการนี้เช่นกัน แต่เบราเซอร์ก็ทำได้แค่ส่วนหนึ่งเท่านั้น
ก้าวต่อไปเพื่อไปสู่โอกาสทองของประเทศคือการลงทุนกับบรอดแบนด์ เมื่อปี 2553 มีครัวเรือนเพียง 3 % เท่านั้นที่เข้าถึงบรอดแบนด์ และมีการคาดการณ์จาก Digital Divide Institute (DDI) ว่าในปี 2558 ตัวเลขดังกล่าวจะขยับขึ้นเป็น 17% ในขณะที่ประเทศอื่นๆ ในเอเชียที่มีระดับรายได้ใกล้เคียงกับประเทศไทยมีตัวเลขคาดการณ์ในปีดังกล่าวอยู่ที่ 30% และ DDI ยังคาดการณ์ไว้ด้วยว่า ในปี 2553 การผลักดันบรอดแบนด์อย่างแท้จริง อาจสามารถเข้าถึงประชากรไทยได้ถึง 70% และจะส่งผลให้ตัวเลขจีดีพีต่อปีเติบโตขึ้นถึง 3.5% ภายในปี 2558 มีการลงทุนน้อยมากที่จะให้ผลตอบแทนดีเช่นนี้ในช่วงเวลาเพียง 5 ปี แต่บรอดแบนด์ยังส่งผลยิ่งใหญ่ตามที่ผมได้กล่าวไปแล้ว นั่นคือ ทุกธุรกิจเป็นธุรกิจออนไลน์ได้ ดังนั้นทุกธุรกิจจะได้ประโยชน์จากอินเทอร์เน็ตที่เร็วขึ้น ลองนึกดูสิครับว่าธุรกิจต่างๆ จะคล่องตัวลื่นไหลแค่ไหนถ้าเราทำให้รถเลิกติดได้ในห้าปี - ธุรกิจเหล่านั้นจะยิ่งคล่องตัวมากขึ้นอีกถ้าประเทศเรามีอินเทอร์เน็ตที่เร็วขึ้น
หลายคนอาจคิดว่า การเรียกร้องให้ลงทุนกับบรอดแบนด์ ณ เวลานี้ไม่เหมาะสม ในเมื่อประเทศไทยยังมีเรื่องอื่นๆที่ต้องการการลงทุนอย่างเร่งด่วน ผมไม่ได้ต้องการจะบอกว่าความเร็วของอินเทอร์เน็ตเป็นปัญหาใหญ่ที่สุดของประเทศไทย แต่การที่ทุกสิ่งกำลังแผ่กิ่งก้านสาขาเข้ามาถึงอินเทอร์เน็ต ซึ่งคนไทยทั่วประเทศก็เข้ามาใช้กันมากขึ้นเรื่อยๆ นั้นเป็นโอกาสสำคัญชิ้นใหญ่ของเมืองไทยในอนาคต เป็นโอกาศสำหรับทุกคน ไม่ว่าจะเป็นช่างตัดเสื้อที่อยากได้ลูกค้าใหม่ หรือคนที่กำลังหาอู่ซ่อมรถที่ไว้ใจได้ใกล้ๆ บ้าน หรือนักธุรกิจที่อยากลองเปิดตลาดต่างประเทศก็ตาม
ส่งอีเมลถึงทีมข่าวของเราที่: teaminspire@inspirecomms.com. หากคุณไม่ได้เป็นสมาชิกของทีมข่าว คุณจะไม่ได้รับการตอบกลับ สำหรับการสอบถามข้อมูลอื่นๆ โปรดไปที่ศูนย์ช่วยเหลือ