วันพุธที่ 3 เมษายน พ.ศ. 2567

Google จับมือดีอี ร่วมปกป้องคนไทยจากกลโกงออนไลน์ด้วยฟีเจอร์ Google Play Protect ใหม่ และแคมเปญเสริมสร้างความรู้ด้านดิจิทัล

บุคคลในภาพ (จากซ้ายไปขวา)

เพิ่มศักดิ์ ลีลากุล ผู้จัดการฝ่ายรัฐกิจสัมพันธ์และนโยบายสาธารณะ Google ประเทศไทย 

Mohet Saxena ผู้อำนวยการฝ่ายความน่าเชื่อถือและความปลอดภัยสำหรับ Play Store, Android และ Chrome Web Store ของ Google

วงศ์อะเคื้อ บุญศล โฆษกกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมฝ่ายการเมือง (ดีอี)

เวทางค์ พ่วงทรัพย์ รองปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี)

แจ็คกี้ หวาง Country Director, Google ประเทศไทย

Yinghui Tng, Head of Government Affairs and Public Policy for Southeast Asia, Platforms and Devices ของ Google

ศารณีย์ บุญฤทธิ์ธงไชย Country Marketing Manager, Google ประเทศไทย


ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาที่ Google ได้เข้ามาดำเนินงานในประเทศไทย เราได้มุ่งมั่นกับการลดช่องว่างดิจิทัลและการทำให้อินเทอร์เน็ตเป็นพื้นที่ที่ปลอดภัยสำหรับคนไทยทุกคนภายใต้พันธกิจ Leave No Thai Behind มาโดยตลอด ในปัจจุบันที่ผู้คนพึ่งพาอินเทอร์เน็ตกันมากขึ้น ไม่ว่าจะเพื่อทำสิ่งต่างๆ ในชีวิตประจำวัน หรือเพื่อความบันเทิง การตระหนักถึงภัยคุกคามที่เพิ่มมากขึ้น อย่างเช่น การหลอกลวงทางออนไลน์ รวมถึงการรับมือกับผู้ไม่ประสงค์ดี การเตรียมพร้อม รู้เท่าทัน และมีข้อมูลที่จำเป็นในการใช้อินเทอร์เน็ตอย่างฉลาดและรอบคอบจึงเป็นเรื่องสำคัญมากกว่าที่เคย

เพื่อช่วยสร้างความตระหนักด้านความปลอดภัยบนโลกออนไลน์ และสนับสนุนให้คนไทยหลากหลายช่วงวัยใช้ช่วงเวลาสงกรานต์ที่กำลังจะมาถึงนี้ในการส่งมอบความห่วงใยและส่งเสริมความปลอดภัยทางดิจิทัลให้กับตัวเองและครอบครัว เราจึงจัดกิจกรรม Safer Songkran ภายใต้โครงการ Safer with Google ต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 ซึ่งอัดแน่นไปด้วยกิจกรรมที่มุ่งให้ความรู้และนำเสนอเครื่องมือต่างๆ เพื่อช่วยส่งเสริมความปลอดภัยบนโลกออนไลน์ให้แก่คนไทย โดยเปิดให้ผู้ที่สนใจเข้าชมและร่วมกิจกรรมฟรีไม่มีค่าใช้จ่าย ระหว่างวันที่ 3-6 เมษายน ศกนี้ ณ สามย่านมิตรทาวน์


ภายในงาน เรายังได้ประกาศความร่วมมือกับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ในการเสริมสร้างความปลอดภัยบนโลกออนไลน์ให้กับคนไทยผ่านฟีเจอร์ Google Play Protect ใหม่ เพื่อช่วยปกป้องผู้ใช้ Android จากการหลอกลวงและกลโกงทางการเงิน และแคมเปญ Pause Check Protect ที่จะชวนคนไทยตั้งสติ ตรวจสอบ ป้องกัน ด้วยการนำเสนอเคล็ดลับต่างๆ ผ่านคอนเทนต์ที่เข้าใจง่าย และสามารถส่งต่อกันได้ เพื่อให้คนไทยไม่ตกเป็นเหยื่อของกลโกงออนไลน์

ฟีเจอร์ป้องกันกลโกงใหม่ใน Google Play Protect

เช่นเดียวกับประเทศอื่นๆ ทั่วโลก ประเทศไทยมีคดีหลอกลวงและกลโกงทางออนไลน์เพิ่มสูงขึ้นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา แม้ว่าในปีที่ผ่านมาผู้คนจะตระหนักถึงกลโกงทางออนไลน์กันมากขึ้น แต่จากการสำรวจที่ Google ทำร่วมกับ Qualtrics กลับพบว่า 7 ใน 10 ของผู้ใช้ออนไลน์ในประเทศไทยตกเป็นเหยื่อของการหลอกลวงทางออนไลน์ ทั้งๆ ที่มีความมั่นใจว่าตนเองนั้นสามารถมองกลโกงออกและหลีกเลี่ยงได้

ฟีเจอร์ป้องกันกลโกงใหม่ใน Google Play Protect จะช่วยปกป้องผู้ใช้อุปกรณ์ Android จากกลลวงต่างๆ ได้ดียิ่งขึ้นด้วยการบล็อกการติดตั้งแอปที่อาจมีความเสี่ยงซึ่งโหลดมาจากแหล่งที่มาที่ไม่รู้จัก โดยไทยเป็นประเทศที่ 2 ของโลก (ต่อจากสิงคโปร์) ที่ Google ได้นำร่องฟีเจอร์นี้ ถือเป็นการยกระดับความปลอดภัยให้กับผู้ใช้ขึ้นไปอีกขั้นนอกเหนือจากการรักษาความปลอดภัยในตัวแบบหลายชั้นที่มีอยู่แล้วทั้งบน Android และ Google Play ซึ่งรวมถึงการป้องกันสแปมใน Google Messages, Google Safe Browsing ใน Chrome และ Google Play Protect ที่ตอนนี้มีการสแกนแอปแบบเรียลไทม์เพิ่มเข้ามาด้วย

หากผู้ใช้พยายามจะติดตั้งแอปที่อาจมีความเสี่ยงจากแหล่งที่มาที่ไม่รู้จักบนอินเทอร์เน็ต ไม่ว่าจะเป็นเว็บเบราว์เซอร์ แอปรับส่งข้อความ หรือโปรแกรมจัดการไฟล์ ที่อาจใช้สิทธิ์เข้าถึงข้อมูลละเอียดอ่อน ซึ่งมักจะถูกนำไปใช้ในกลโกงทางการเงิน Google Play Protect จะบล็อกการติดตั้งโดยอัตโนมัติ พร้อมแสดงคำอธิบายให้ผู้ใช้ทราบ ฟีเจอร์ป้องกันกลโกงใหม่นี้จะตรวจสอบสิทธิ์ของแอปแบบเรียลไทม์ โดยเฉพาะสิทธิ์ 4 รายการนี้ ซึ่งได้แก่ การอ่าน SMS (READ_SMS) การรับ SMS (RECEIVE_SMS) การช่วยเหลือพิเศษ (Accessibility) และการฟังการแจ้งเตือน (BIND_Notifications)

หากผู้ใช้พยายามติดตั้งแอปซึ่งโหลดมาจากแหล่งที่มาที่ไม่รู้จักที่มีเจตนาในการใช้สิทธิ์เข้าถึงข้อมูลละเอียดอ่อน Google Play Protect จะบล็อกการติดตั้งโดยอัตโนมัติ พร้อมแสดงคำอธิบายให้ผู้ใช้ทราบ

จากการวิเคราะห์ด้านภัยคุกคามโดยละเอียดของ Google พบว่า มิจฉาชีพมักจะใช้สิทธิ์เหล่านี้เพื่อดักจับรหัสผ่านแบบใช้ครั้งเดียวที่ส่งมาทาง SMS หรือการแจ้งเตือน รวมทั้งแอบส่องเนื้อหาบนหน้าจอของผู้ใช้ และจากการวิเคราะห์กลุ่มมัลแวร์สำหรับกลโกงหลักๆ ที่ใช้ประโยชน์จากสิทธิ์ในการเข้าถึงข้อมูลละเอียดอ่อนเหล่านี้ พบว่ากว่า 95% ของการติดตั้งมาจากแหล่งที่มาที่ไม่รู้จักบนอินเทอร์เน็ต

เราจะเริ่มนำร่องการใช้งานฟีเจอร์ใหม่นี้ตั้งแต่วันนี้ และจะทยอยเปิดให้บริการแก่ผู้ใช้ในประเทศไทยในลำดับต่อไป โดยไทยเป็นประเทศที่ 2 ของโลก (ต่อจากสิงคโปร์) ที่ Google ได้นำร่องฟีเจอร์นี้ และเราจะคอยติดตามผลการทำงานของฟีเจอร์นี้อย่างใกล้ชิดร่วมกับกระทรวงดิจิทัลฯ เพื่อประเมินผลกระทบและทำการปรับปรุงที่จำเป็นต่อไป

ความร่วมมือกับพาร์ทเนอร์เพื่อป้องกันการหลอกลวงทางออนไลน์

นอกเหนือจากการออกแบบผลิตภัณฑ์เพื่อป้องกันการหลอกลวงทางออนไลน์แล้ว เรายังได้ร่วมมือกับพาร์ทเนอร์ในอุตสาหกรรม ภาคธุรกิจ และหน่วยงานภาครัฐเพื่อเสริมสร้างความรู้และส่งเสริมความตระหนักด้านความปลอดภัยบนโลกออนไลน์ เพื่อช่วยให้คนไทยทุกคนมีข้อมูลที่จำเป็นเพื่อการตัดสินใจอย่างถี่ถ้วนและรอบคอบ ในปีนี้ เราได้ร่วมมือกับกระทรวงดิจิทัลฯ ในการจัดทำคอนเทนต์เพื่อให้ความรู้ แบ่งปันเคล็ดลับดีๆ และแนะนำเครื่องมือที่เป็นประโยชน์ต่อคนไทยในการรับมือกับการหลอกลวงทางออนไลน์ประเภทต่างๆ ที่พบบ่อย ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแคมเปญ Pause Check Protect ที่จะชวนคนไทยตั้งสติ ตรวจสอบ ป้องกัน เพื่อเสริมสร้างความปลอดภัยบนโลกออนไลน์


ความพยายามอย่างต่อเนื่องเหล่านี้สะท้อนถึงความมุ่งมั่นในพันธกิจ Leave No Thai Behind ของเราที่ต้องการส่งเสริมศักยภาพของคนไทยด้วยการให้ความรู้และเครื่องมือที่จำเป็นเพื่อให้พวกเขาสามารถท่องโลกออนไลน์ได้อย่างมั่นใจและปลอดภัย Google มุ่งมั่นที่จะสร้างระบบนิเวศออนไลน์ที่ส่งเสริมนวัตกรรมและความปลอดภัยไปพร้อมๆ กัน โดยให้ความสำคัญกับการออกแบบผลิตภัณฑ์ที่มุ่งเน้นความเป็นส่วนตัว มีความปลอดภัยโดยค่าเริ่มต้น และให้ผู้ใช้ควบคุมประสบการณ์การใช้งานด้วยตนเอง

สามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับวิธีที่ Google รักษาความปลอดภัยให้กับผู้คนในทุกวันได้ที่ https://safety.google

แจ็คกี้ หวาง
Country Director, Google ประเทศไทย

2 ความคิดเห็น:

  1. ดีค่ะมีฟีเจอร์ป้องกันกลโกง

    ตอบลบ
  2. Whanmhoo569 เล่นสล็อตออนไลน์ ได้อย่างไม่มีสะดุด แจ็คพอตไม่มีอั้น

    ตอบลบ