วันจันทร์ที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2566

คำถาม การยักไหล่ และสิ่งที่จะเกิดขึ้นต่อจากนี้: 25 ปีแห่งการเปลี่ยนแปลง

หมายเหตุบรรณาธิการ: Google จะฉลองครบรอบ 25 ปีในปลายเดือนนี้ เนื่องในโอกาสพิเศษนี้ ซุนดาร์ พิชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ Alphabet และ Google ได้ตอบคำถามต่างๆ และพูดคุยเกี่ยวกับความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่นำไปสู่การค้นพบครั้งยิ่งใหญ่และผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่มีประโยชน์ในชีวิตประจำวันของผู้คนทั่วโลก นอกจากนี้ ซุนดาร์ยังได้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการใช้ประโยชน์จาก AI เพื่อทำสิ่งที่สำคัญในระดับที่ใหญ่ขึ้น


ถึงทุกคนทั่วโลกที่ใช้ผลิตภัณฑ์ของ Google พนักงานและพาร์ทเนอร์ของเรา

Google จะฉลองครบรอบ 25 ปีในเดือนกันยายนนี้ นับเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่เราเติบโตและประสบความสำเร็จจนมาถึงจุดนี้ ซึ่งจะเกิดขึ้นไม่ได้เลยหากไม่มีผู้คนที่ใช้ผลิตภัณฑ์ของเราและท้าทายให้เราสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง รวมถึง Googler หลายแสนคนทั้งในอดีตและปัจจุบันที่ได้ใช้ความสามารถและพรสวรรค์ในการสร้างผลิตภัณฑ์เหล่านั้น ตลอดจนบรรดาพาร์ทเนอร์ที่เชื่อมั่นในพันธกิจของเรา

ดังนั้น ผมจึงถือโอกาสนี้แสดงความขอบคุณทุกๆ คน ทุกๆ ฝ่าย และทบทวนช่วงเวลาที่ผ่านมา


ผมคิดอยู่เสมอว่าเทคโนโลยีพัฒนาไปถึงไหนแล้วในช่วง 25 ปีที่ผ่านมานี้ และผู้คนมีการปรับตัวให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีกันอย่างไรบ้าง ตอนที่ผมเรียนอยู่ที่สหรัฐอเมริกา พ่อของผมอยู่ที่อินเดีย แล้วพ่อก็มีอีเมลของตัวเองเป็นครั้งแรก ผมรู้สึกตื่นเต้นมากที่มีช่องทางใหม่ในการติดต่อกับพ่อ ซึ่งทั้งรวดเร็วและประหยัดมาก ผมจึงส่งอีเมลไปหาเขา


หลังจากนั้นผมก็เฝ้ารอการตอบกลับจากพ่ออย่างใจจดใจจ่อ ซึ่งเป็นเวลานานถึง 2 วันเต็มเลยทีเดียวกว่าที่พ่อจะตอบกลับผมมา


“สวัสดีครับคุณพิชัย ผมได้รับอีเมลของคุณแล้ว ทุกอย่างเรียบร้อยดี”


ด้วยความงุนงงกับการตอบกลับที่ล่าช้าและข้อความที่ดูเป็นทางการ ผมจึงโทรหาพ่อเพื่อสอบถามว่าเกิดอะไรขึ้น พ่อบอกว่าต้องให้คนเปิดอีเมลบนคอมพิวเตอร์ที่ออฟฟิศและปริ้นท์ออกมาให้พ่ออ่าน หลังจากนั้นพ่อก็ให้คนนั้นจดข้อความตามที่พ่อบอกและเอาไปพิมพ์บนคอมพิวเตอร์เพื่อตอบกลับผมอีกที  


ตัดภาพมาที่ปัจจุบัน เมื่อไม่กี่เดือนที่ผ่านมา ตอนนั้นผมอยู่กับลูกชายที่กำลังเป็นวัยรุ่น ลูกผมเห็นอะไรบางอย่างที่น่าสนใจ ก็เลยถ่ายรูปแล้วส่งไปให้เพื่อนๆ ของเขาดู จากนั้นพวกเขาก็ส่งข้อความหากันไปมา ทุกอย่างเกิดขึ้นไวมาก ไวกว่าตอนที่ผมหยิบโทรศัพท์ขึ้นมาซะอีก


เมื่อเปรียบเทียบวิธีที่ผมติดต่อกับพ่อในสมัยก่อนกับวิธีที่ลูกชายของผมสื่อสารกับเพื่อนๆ ของเขาในยุคนี้ ทำให้เห็นได้ว่ามีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นมากมายในช่วงหลายปีที่ผ่านมานี้ ซึ่งมีการเปลี่ยนผ่านจากรุ่นสู่รุ่น เทคโนโลยีที่เราต้องใช้เวลาหลายปีในการปรับตัวถือเป็นเรื่องปกติของเด็กๆ สมัยนี้ไปแล้ว สิ่งที่ทำให้พ่อของผมประหลาดใจราวกับนิยายวิทยาศาสตร์ อย่างการรับสายโทรศัพท์จากนาฬิกาหรือการสั่งให้รถเปิดเพลงที่ชอบให้ฟัง ทำให้ลูกชายของผมถึงกับต้องยักไหล่


ท่าทางยักไหล่ที่ว่านั้นทำให้ผมมีความหวังอย่างมากสำหรับอนาคต เพราะมันช่วยตั้งมาตรฐานที่สูงสำหรับสิ่งที่คนรุ่นใหม่จะสร้างและประดิษฐ์ขึ้นมา และผมแทบจะอดใจรอไม่ไหวที่จะได้เห็นว่าอะไรจะทำให้ลูกหลานของพวกเขายักไหล่เช่นกัน


ความจริงที่สำคัญของนวัตกรรมก็คือทันทีที่คุณก้าวข้ามขอบเขตของเทคโนโลยี ในไม่ช้ามันก็จะเปลี่ยนจากความพิเศษไปสู่ความธรรมดา นั่นเป็นเหตุผลที่ Google ไม่เคยหลงระเริงไปกับความสำเร็จที่ได้รับ 


ทุกอย่างเริ่มต้นด้วยการค้นหา


แลร์รีและเซอร์เกได้ร่วมกำหนดพันธกิจของ Google ขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อ 25 ปีที่แล้ว นั่นก็คือ การจัดระเบียบข้อมูลของโลก และทำให้ข้อมูลดังกล่าวสามารถเข้าถึงและเป็นประโยชน์ได้อย่างทั่วถึง พวกเขามีวิสัยทัศน์ที่ทะเยอทะยานสำหรับเครื่องมือค้นหารูปแบบใหม่เพื่อช่วยให้ผู้คนเข้าใจข้อมูลที่มีอยู่อย่างมากมายมหาศาลบนโลกออนไลน์ พวกเขาจึงได้สร้าง Google Search ขึ้น และนับตั้งแต่นั้นมา Google Search ก็ช่วยให้ผู้คนนับพันล้านคนทั่วโลกได้รับคำตอบและข้อมูลต่างๆ ที่พวกเขาอยากรู้


ผมเองก็เป็นหนึ่งในผู้ที่ได้ลองใช้ Google ในช่วงแรกๆ ผมจำได้ว่ารู้สึกทึ่งกับความสามารถของ Google ในการค้นหาคำตอบที่ดีที่สุดสำหรับคำถามที่เฉพาะเจาะจงมากๆ ตั้งแต่รายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ของร้านค้าที่อยู่ในหน้าบริการลูกค้า ไปจนถึงกติกาฟุตบอลที่เข้าใจยาก


สิ่งที่ผมถาม Google ซับซ้อนขึ้นเรื่อยๆ เช่น “วิธีแก้ปัญหาก๊อกน้ำรั่วซึม” “เส้นทางที่เร็วที่สุดไปยังโรงพยาบาลสแตนฟอร์ด” “วิธีทำให้ทารกหยุดร้องไห้” ถ้าจำไม่ผิด ในช่วงฤดูใบไม้ผลิของปี 2003 ผมถาม Google ว่า “วิธีสัมภาษณ์งานกับ Google ให้ผ่านฉลุย” และเมื่อเวลาผ่านไป Google ก็ตอบคำถามได้ดีขึ้นมากเลยครับ


การได้เห็นผู้คนใช้ Google Search ค้นหาข้อมูลเพื่อทำสิ่งต่างๆ ไม่ว่าจะเพื่อดูแลสุขภาพหรือหาวิธีผ่อนคลายในช่วงเวลาที่ยากลำบาก การเรียนรู้ทักษะใหม่ๆ การก้าวเข้าสู่เส้นทางอาชีพใหม่ หรือการเริ่มต้นธุรกิจใหม่ สิ่งเหล่านี้ช่วยสร้างแรงบันดาลใจให้เราเป็นอย่างมาก การที่นักเรียนในพื้นที่ชนบทของอินโดนีเซียสามารถเข้าถึงข้อมูลแบบเดียวกับอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดถือเป็นการปฏิวัติทางเทคโนโลยีที่ช่วยเปลี่ยนแปลงชีวิตของผู้คนและโลกของเราให้ดีขึ้น เป็นการเปิดโอกาสให้ผู้คนเข้าถึงการศึกษาและก้าวสู่การเป็นผู้ประกอบการอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน


นอกจากนี้ Google Search ยังช่วยวางรากฐานสำหรับ Google ในการสร้างผลกระทบทางเศรษฐกิจในเชิงบวกให้กับภาคส่วนอื่นๆ นอกเหนือจากองค์กรของเราเองด้วย แพลตฟอร์มและเครื่องมือการโฆษณาของเราก็เริ่มต้นจากแนวคิดที่เรียบง่ายเช่นเดียวกับ Google Search นั่นก็คือ เพื่อช่วยให้ธุรกิจต่างๆ เข้าถึงกลุ่มลูกค้าที่กำลังมองหาผลิตภัณฑ์และบริการที่พวกเขานำเสนออยู่ เป็นแพลตฟอร์มที่เหมาะสำหรับธุรกิจขนาดเล็กโดยเฉพาะ เช่น ธุรกิจขายตรงทางไปรษณีย์ที่ขายล็อบสเตอร์ ซึ่งสมัครใช้บริการโฆษณาของเราเป็นเจ้าแรก และเช่นเดียวกับ Google Search การที่ธุรกิจสามารถลงโฆษณาทางออนไลน์ได้ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างเห็นได้ชัด โดยช่วยให้ธุรกิจหลายล้านรายกลายเป็นส่วนหนึ่งของเศรษฐกิจดิจิทัล


25 ปีแห่งการตั้งคำถาม


Google Search ยังคงเป็นหัวใจหลักในพันธกิจของเรา และยังคงเป็นเป้าหมายที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของเราที่ยังมีสิ่งที่ต้องทำอีกมากมาย


แน่นอนว่า Google ในปัจจุบันเป็นมากกว่าช่องค้นหา เรามีผลิตภัณฑ์ของ Google 15 รายการที่มีผู้คนและธุรกิจมากกว่า 500 ล้านรายใช้บริการอยู่ และอีก 6 รายการที่มีผู้ใช้บริการมากกว่า 2 พันล้านราย


เช่นเดียวกับการค้นหาโดย Google ส่วนใหญ่ ผลิตภัณฑ์ทั้งหมดเหล่านั้นก็มีจุดเริ่มต้นมาจากคำถามเช่นกัน ตัวอย่างเช่น Gmail เป็นคำถามที่ว่า “เราสามารถให้พื้นที่เก็บข้อมูลขนาด 1 GB กับทุกคนได้หรือไม่” เมื่อ Gmail เปิดตัวในปี 2004 ปริมาณพื้นที่เก็บข้อมูลก็มากกว่าที่บริการเว็บเมลฟรีอื่นๆ ส่วนใหญ่นำเสนอกว่า 100 เท่าเลยทีเดียว! 


ไม่กี่ปีต่อมา เราเห็นโอกาสในการปรับปรุงเว็บเบราว์เซอร์และการท่องเว็บให้ดียิ่งขึ้นสำหรับผู้คนในทั่วทุกมุมโลก ดังนั้นในการพัฒนา Chrome เราจึงตั้งคำถามว่า “เราสามารถสร้างเบราว์เซอร์ที่ทำให้การท่องเว็บดีขึ้นโดยคำนึงถึงความเรียบง่าย ความเร็ว และความปลอดภัยเป็นหลักได้ไหม” ก่อนเปิดตัว Chrome ผมก็ถามตัวเองว่า “จะมีคนใช้สิ่งนี้ไหม”


ส่วนทีม YouTube ก็กล้าที่จะถามว่า “จะเป็นอย่างไรถ้าเราให้ทุกคนมีพื้นที่ที่พวกเขาสามารถแชร์สิ่งที่รู้กับคนอื่นๆ ทั่วโลก” และในวันนี้ YouTube ได้กลายเป็นแพลตฟอร์มอันทรงพลังสำหรับการเรียนรู้และแหล่งความรู้ต่างๆ


คำถามยังคงมีเข้ามาเรื่อยๆ และเราได้ปรับปรุงและขยายผลิตภัณฑ์ของเราอย่างต่อเนื่องด้วยคำถามใหม่ๆ เช่น “จะเกิดอะไรขึ้นหาก Google Maps ช่วยให้ผู้คนมองเห็นถนนทุกสายในโลกได้อย่างละเอียด” “จะเป็นอย่างไรถ้าเราสร้างเครื่องมือสำหรับการแปลที่ช่วยให้ผู้คนเข้าถึงข้อมูลและสื่อสารในหลายภาษาได้” “จะเป็นอย่างไรหากคุณสามารถค้นหารูปภาพเก่าทั้งหมดของคุณได้โดยเพียงแค่อธิบายสิ่งที่คุณต้องการดู”


นอกจากนี้เรายังถามตัวเองถึงวิธีที่ดีที่สุดในการแบ่งปันเครื่องมือ ความก้าวหน้า และโครงสร้างพื้นฐานของเราให้กับผู้อื่น ถึงแม้ว่าเราจะเพิ่งเปิดตัวธุรกิจระบบคลาวด์ในปี 2008 แต่อันที่จริงแล้ว Google ถูกสร้างขึ้นในระบบคลาวด์มาตั้งแต่เริ่มต้น ในปัจจุบัน Google Cloud ได้กลายเป็นหนึ่งในบริษัทชั้นนำของโลก พันธมิตรในอุตสาหกรรมต่างๆ ใช้เทคโนโลยีของ Google เพื่อปรับปรุงการสนับสนุนลูกค้าและประสิทธิภาพของซัพพลายเชน ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ สร้างแอปพลิเคชันใหม่ๆ และทำสิ่งต่างๆ ได้มากขึ้นด้วย AI เช่นเดียวกับลูกค้าโฆษณาของเราก่อนหน้านี้ พันธมิตรของ Cloud ดำเนินงานได้ดีขึ้น เติบโตเร็วขึ้น และช่วยสร้างงานได้ด้วยความช่วยเหลือจากเรา


แน่นอนว่าไม่ใช่ทุกคำถามที่เราถามจะประสบความสำเร็จ ในช่วงเวลา 25 ปีที่ผ่านมา เราเจออุปสรรคและได้รับบทเรียนต่างๆ มากมายเพื่อนำมาพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการของเราให้ดียิ่งขึ้น จำ Google Wave ได้ไหมครับ


นอกจากนี้เรายังเผชิญกับคำถามยากๆ เกี่ยวกับอนาคตของบริษัทด้วย ในช่วงทศวรรษ 2000 คำถามคือเว็บไซต์จะอยู่ได้นานแค่ไหน ต่อมาในช่วงทศวรรษ 2010 ผู้คนถามว่าเราจะปรับตัวเข้ากับยุคของการประมวลผลบนอุปกรณ์เคลื่อนที่ได้หรือไม่ และการค้นหา “จบลงแล้ว” หรือไม่ ในแต่ละครั้งเราให้คำตอบแก่คำถามเหล่านั้นด้วยการกลับมาอย่างแข็งแกร่งยิ่งกว่าเดิม เราทำสิ่งนี้ได้โดยมีจุดมุ่งหมายเดียวคือพันธกิจของเรา ความเชื่อของเราในการประยุกต์ใช้วิทยาการคอมพิวเตอร์เชิงลึกเพื่อทำให้ชีวิตของผู้คนดีขึ้น และเราเชื่อว่าไม่มีอะไรที่เป็นไปไม่ได้


ไม่มีอะไรที่เป็นไปไม่ได้


เราเชื่อว่าไม่มีอะไรที่เป็นไปไม่ไ่ด้ ซึ่งความเชื่อนี้ทำให้เราเอาชนะอุปสรรคและก้าวข้ามปัญหาต่างๆ ที่คนอื่นไม่สามารถทำได้หรือไม่คิดที่จะทำ ตัวอย่างเช่น มีแนวคิดที่ฟังดูเหมือนเป็นไปไม่ได้ที่จะนำคอมพิวเตอร์ที่มีประสิทธิภาพสูงมาไว้ในกระเป๋าของทุกคน ไม่ว่าพวกเขาจะมีรายได้มากน้อยแค่ไหนหรือมีการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตแบบไหนก็ตาม ปัจจุบัน มีอุปกรณ์ 3 พันล้านเครื่องทั่วโลกที่ใช้ระบบปฏิบัติการ Android ของเรา ตั้งแต่โทรศัพท์แบบพับได้รุ่นล่าสุดไปจนถึงโทรศัพท์ระดับเริ่มต้น การทำให้ทุกคนเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้มากขึ้นและสร้างแรงบันดาลใจให้กับผลิตภัณฑ์อื่นๆ ที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงคือหัวใจหลักในการดำเนินงานของเรา เช่นเดียวกับที่ Chromebook ทำให้คอมพิวเตอร์พร้อมใช้งานสำหรับโรงเรียนทั่วโลก และ Google Pixel ที่นำสิ่งที่ดีที่สุดจากเทคโนโลยีล่าสุดของเรา ไม่ว่าจะเป็นกล้องที่ขับเคลื่อนด้วยแมชชีนเลิร์นนิง การจดจำคำพูด ความสามารถในการถอดเสียง ชิปประมวลผล Google Tensor และอื่นๆ อีกมากมาย มาไว้ในมือของผู้ใช้


สิ่งต่างๆ ที่กล่าวมานี้ได้นำเราไปสู่การพัฒนา AI ซึ่ง Google ได้ลงทุนใน AI มาตั้งแต่ช่วงแรกๆ แล้ว และตั้งแต่ช่วงต้นทศวรรษ 2000 Google ก็เป็นหนึ่งในบริษัทแรกๆ ที่นำแมชชีนเลิร์นนิงมาใช้ในผลิตภัณฑ์เพื่อแก้ไขตัวสะกด ปรับปรุงคุณภาพของโฆษณา และแสดงคำแนะนำและข้อแสนอแนะต่างๆ


ต่อมาในช่วงต้นทศวรรษ 2010 ผู้คนมีความตื่นเต้นอย่างมากเกี่ยวกับโครงข่ายประสาทแบบลึก (Deep Neural Network) ในปี 2012 พวกเราได้ไปชมการสาธิตในห้องประชุมใกล้กับร้าน Charlie’s ซึ่งเป็นร้านกาแฟที่ออฟฟิศของเรา ผมจำได้ว่ารู้สึกตกตะลึงเมื่อได้เห็นสิ่งที่ทีม Google Research โชว์ให้เราดู ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความก้าวหน้าที่พวกเขาต่อยอดมาจากการจดจำรูปภาพ ซึ่งได้รับแรงหนุนจากความก้าวหน้าในด้านเครือข่ายระบบประสาท นั่นเป็นครั้งแรกที่ผมคิดกับตัวเองว่า “สิ่งนี่แหละที่จะเปลี่ยนแปลงทุกอย่างได้จริงๆ!”


ผมมีความรู้สึกคล้ายกันเมื่อเห็นการวิจัยแบบสหวิทยาการที่ก้าวล้ำของ DeepMind ซึ่งมุ่งเน้นที่การทำความเข้าใจธรรมชาติของสติปัญญา ความก้าวหน้านี้มีอิทธิพลต่อความคิดของผมอย่างมากเมื่อผมได้รับตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหารในปี 2015 โดยตอนนั้นผมคิดว่า Google ควรจะผันตัวสู่เป็น AI-first company


จากนั้นก็มีคำถามเพิ่มเติมตามมาอีกมากมาย เช่น “เราจะขับเคลื่อนการประมวลผลยุคใหม่นี้ได้อย่างไร” ดังนั้นเราจึงคิดค้น Tensor Processing Unit หรือ TPU ขึ้นมา ซึ่งช่วยปรับปรุงประสิทธิภาพในการเรียนรู้ของแมชชีนเลิร์นนิงได้มากกว่าฮาร์ดแวร์อื่นๆ ที่มีอยู่ในขณะนั้นถึง 30-80 เท่า และช่วยเสริมประสิทธิภาพให้กับ AlphaGo ซึ่งเป็นโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่สามารถเอาชนะ Lee Sedol เจ้าของตำแหน่งแชมป์หมากล้อมโลกได้สำเร็จในปี 2016 ต่อมาในปี 2017 เราได้เปิดตัวงานวิจัยที่มีชื่อว่า Transformer ซึ่งทำให้เกิดสถาปัตยกรรมโครงข่ายประสาทเทียมที่เป็นรากฐานของ Generative AI และโมเดลภาษาขนาดใหญ่ส่วนใหญ่ที่มีอยู่ในปัจจุบัน


ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีหลายอย่างเหล่านี้ได้นำไปสู่นวัตกรรมผลิตภัณฑ์ที่น่าทึ่งที่สุดบางส่วนของเรา โมเดลภาษาขนาดใหญ่ เช่น MUM และ BERT ทำให้ผลการค้นหาสำหรับคำค้นหาที่ซับซ้อนมีประโยชน์มากขึ้น เราได้สร้างวิธีใหม่ๆ ให้กับผู้คนเพื่อบอกถึงสิ่งที่พวกเขากำลังมองหาผ่านเสียง รูปภาพ และแม้แต่การถามคำถามเกี่ยวกับสิ่งที่พวกเขาเห็นด้วยมัลติเสิร์ช ตอนนี้ Generative AI กำลังช่วยพลิกโฉมผลิตภัณฑ์หลักของเราให้มีประสิทธิภาพและน่าสนใจยิ่งขึ้น ตั้งแต่ Search Generative Experience (SGE) ไปจนถึง “Help Me Write” ใน Gmail และเมื่อต้นปีนี้ เราได้เปิดตัว Bard ซึ่งเป็นการทดลองเบื้องต้นที่ช่วยให้ผู้คนสามารถทำงานร่วมกับ Generative AI ได้ 


ช่วงเวลาที่ผมชอบคือการได้เห็นว่าผลิตภัณฑ์ของเราสามารถสร้างความแตกต่างให้กับชีวิตของผู้คนได้อย่างไรบ้าง ไม่ว่าจะเป็นผู้ปกครองที่ถ่ายรูปลิ้นชักงานฝีมือและใช้ Bard เพื่อหาแรงบันดาลใจสำหรับโปรเจ็กต์วันฝนตกสำหรับลูกๆ ของพวกเขา นักท่องเที่ยวที่ใช้ Google Lens แปลตารางรถไฟในต่างประเทศ หรือครอบครัวที่สามารถได้ยินเสียงของผู้ชายที่เป็นโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงได้ ซึ่งทั้งหมดนี้ต้องยกเครดิตให้กับงานวิจัยเกี่ยวกับการจดจำคำพูดและการสังเคราะห์เสียงของเรา


การออกแบบผลิตภัณฑ์ที่ช่วยเหลือผู้คนในวงกว้างถือเป็นทั้งสิทธิพิเศษและความรับผิดชอบ แต่ละคนต่างก็มีคำถามของตัวเอง “เราจะไว้ใจเทคโนโลยีใหม่เหล่านี้ได้หรือไม่” เราไตร่ตรองอย่างละเอียดรอบคอบเกี่ยวกับวิธีการสร้างเทคโนโลยีที่มีความรับผิดชอบตั้งแต่เริ่มต้น ไม่ว่าจะเป็นการทำให้แน่ใจว่าข้อมูลของทุกคนได้รับการปกป้องและรักษาความปลอดภัย หรือการทำให้ผู้คนปลอดภัยจากผู้ไม่ประสงค์ดีบนโลกออนไลน์


นอกจากนี้ยังรวมถึงการมีส่วนร่วมในการอภิปรายที่สำคัญเกี่ยวกับวิธีที่เทคโนโลยีเหล่านั้นจะหล่อหลอมรูปแบบสังคมของเราได้อย่างไรบ้าง จากนั้นก็จะเป็นการค้นหาคำตอบร่วมกัน และ AI ก็เป็นส่วนสำคัญในเรื่องนี้ แม้ว่าเราจะรู้สึกตื่นเต้นไปกับศักยภาพของ AI ที่จะเป็นประโยชน์ต่อผู้คนและสังคมโดยรวม แต่เราก็ตระหนักดีว่า AI เป็นเทคโนโลยีที่ซับซ้อนและมีความเสี่ยงเช่นเดียวกับเทคโนโลยีอื่นๆ ในช่วงเริ่มแรก ซึ่งในการพัฒนาและการใช้ AI เราต้องรับมือกับความเสี่ยงเหล่านี้ไปพร้อมๆ กับการต่อยอดเทคโนโลยีนี้อย่างมีความรับผิดชอบ หลักการเกี่ยวกับ AI ที่เราเปิดตัวในปี 2018 เป็นส่วนสำคัญในการดำเนินงานในด้านนี้ โดยหลักการเหล่านี้นำมาซึ่งคำถาม เช่น “AI จะเป็นประโยชน์ต่อผู้คนและสังคมหรือว่าจะก่อให้เกิดอันตรายในทางใดทางหนึ่งหรือไม่” นอกจากนี้ยังช่วยกำหนดทิศทางในการพัฒนาผลิตภัณฑ์และแอปพลิเคชัน AI ของเรา ตลอดจนเป็นแนวทางในการค้นหาวิธีแก้ไขปัญหาใหม่ๆ ตัวอย่างเช่น เมื่อสัปดาห์ก่อนเราได้เปิดตัว SynthID ซึ่งเป็นเครื่องมือสำหรับการใส่ลายน้ำเพื่อระบุรูปภาพที่สร้างขึ้นด้วย AI ซึ่งจะช่วยแก้ไขปัญหาที่สำคัญในเรื่องของความโปร่งใส ทั้งนี้ เราจะยังคงร่วมมือกับผู้เชี่ยวชาญและชุมชนเพื่อเรียนรู้และปรับปรุงในด้านนี้ต่อไป


อนาคตข้างหน้า


ในขณะที่มองไปยังอนาคตข้างหน้า ผมก็ได้ทบทวนถึงความมุ่งมั่นที่ผู้ก่อตั้ง Google ระบุในจดหมายเมื่อปี 2004 นั่นก็คือ “เพื่อพัฒนาบริการที่ช่วยยกระดับชีวิตของผู้คนให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ และทำสิ่งที่เป็นประโยชน์” 


AI เปิดโอกาสให้เราได้ทำสิ่งที่เป็นประโยชน์ในระดับที่ใหญ่ขึ้นได้


เราเพิ่งจะได้เห็นว่าเทคโนโลยีคลื่นลูกใหม่สามารถทำอะไรได้บ้างและสามารถพัฒนาได้เร็วแค่ไหน ตอนนี้ผู้คนจำนวน 1 ล้านคนกำลังใช้ Generative AI ใน Google Workspace เพื่อช่วยเขียนและสร้างสรรค์งานต่างๆ ในขณะที่การคาดการณ์น้ำท่วมครอบคลุมพื้นที่ต่างๆ ที่มีผู้คนอาศัยอยู่มากกว่า 460 ล้านคน นักวิจัยกว่าล้านคนได้ใช้ฐานข้อมูล AlphaFold ที่สามารถทำนายโครงสร้างของโปรตีนกว่า 200 ล้านชนิด เพื่อช่วยลดมลพิษจากพลาสติก รับมือกับการดื้อยาปฏิชีวนะ ต่อสู้กับโรคมาลาเรีย และอื่นๆ อีกมากมาย และเรายังแสดงให้เห็นว่า AI สามารถช่วยลดเมฆ contrail จากเครื่องบินได้อย่างไร ซึ่งเป็นเครื่องมือสำคัญในการลดปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ


ยังมีอะไรอีกมากมายรออยู่ข้างหน้า เมื่อเวลาผ่านไป AI จะเป็นการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีครั้งใหญ่ที่สุดในช่วงชีวิตของเรา ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ใหญ่กว่าการเปลี่ยนจากการประมวลผลบนคอมพิวเตอร์เดสก์ท็อปไปสู่การประมวลผลบนอุปกรณ์เคลื่อนที่ และอาจใหญ่กว่าการกำเนิดของอินเทอร์เน็ตด้วยซ้ำ AI เป็นการวางรากฐานใหม่ของเทคโนโลยีและช่วยเสริมสร้างความเฉลียวฉลาดของมนุษย์ได้อย่างน่าเหลือเชื่อ


การทำให้ AI มีประโยชน์มากขึ้นสำหรับทุกคน และการนำเทคโนโลยีนี้ไปใช้อย่างมีความรับผิดชอบ เป็นสิ่งที่เราจะมุ่งเน้นให้ความสำคัญในพันธกิจของเราในอีก 10 ปีข้างหน้าและในอนาคต


และด้วย AI ตอนนี้เราและผู้อื่นก็จะมีคำถามเหล่านี้


นักเรียนทุกคนจะมีครูสอนพิเศษส่วนตัวในทุกภาษาและสำหรับทุกวิชาได้อย่างไร
เราจะช่วยผู้ประกอบการพัฒนาพลังงานสะอาดรูปแบบใหม่ได้อย่างไร
เราสามารถสร้างเครื่องมืออะไรได้บ้างเพื่อช่วยให้ผู้คนออกแบบและสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ และขยายธุรกิจใหม่
เราจะช่วยพลิกโฉมภาคส่วนต่างๆ เช่น การคมนาคม หรือเกษตรกรรม ได้อย่างไร
เราจะช่วยชุมชนคาดการณ์และเตรียมพร้อมสำหรับภัยพิบัติทางธรรมชาติได้อย่างไร


เมื่อมีความท้าทายใหม่ๆ เกิดขึ้น เราก็จะต้องมีการดำเนินงานอย่างกล้าหาญและมีความรับผิดชอบเพื่อช่วยยกระดับชีวิตของผู้คนให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ และถามคำถามสำคัญเหล่านั้นต่อไป


การค้นหาคำตอบของเราจะช่วยขับเคลื่อนความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่โดดเด่นในอีก 25 ปีข้างหน้า


และในปี 2048 หากมีวัยรุ่นจากที่ไหนสักแห่งในโลกนี้มองสิ่งที่เราสร้างขึ้นด้วย AI แล้วยักไหล่ นั่นหมายความว่าเราประสบความสำเร็จแล้ว หลังจากนั้นเราก็จะก้มหน้าก้มตาทำงานต่อไป 


ขอบคุณทุกคนที่ให้การสนับสนุน Google ตลอดระยะเวลา 25 ปีที่ผ่านมาครับ

ซุนดาร์ พิชัย

1 ความคิดเห็น: