วันอังคารที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2565

การสนับสนุนการแก้ไขปัญหาในด้านต่างๆ เพื่อความยั่งยืนในเอเชียแปซิฟิก


เอเชียแปซิฟิกถือเป็นภูมิภาคที่มีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี และยังเป็นภูมิภาคที่มีเยาวชนอยู่เป็นจำนวนมาก ด้วยเหตุนี้ จึงทำให้เชื่อว่านวัตกรรมที่จำเป็นสำหรับการดำเนินการด้านสภาพภูมิอากาศที่สามารถใช้ได้ในวงกว้างและทันท่วงทีจะมาจากภูมิภาคนี้ เราสังเกตเห็นว่าผู้คนในเอเชียแปซิฟิกมีความกังวลมากขึ้นเรื่อยๆ โดยในปีนี้ การค้นหาในหัวข้อที่เกี่ยวข้องกับความยั่งยืนพุ่งสูงเป็นประวัติการณ์ในหลายประเทศ เช่น อินเดีย ออสเตรเลีย และ สิงคโปร์ นอกจากนี้ ผู้คนยังมองหาวิธีเรียนรู้และลงมือปฏิบัติ โดยมีการค้นหายอดนิยม เช่น "วิธีที่จะทำให้เกิดความยั่งยืนมากยิ่งขึ้น" (“how to be more sustainable”) และ "วิธีรีไซเคิล" (“how to recycle”)

เราเล็งเห็นโอกาสสำหรับ Google ในการสนับสนุนการขับเคลื่อนนี้เพื่อเดินหน้าจากการตั้งเป้าหมายไปสู่ขั้นตอนของการลงมือปฏิบัติจริงใน 3 ด้านหลัก ดังนี้ 

การจัดการผลกระทบที่เกิดจากการดำเนินงานของเรา

นับตั้งแต่ที่ Google ก่อตั้งขึ้นในปี 1998 เราก็ได้ยึดหลักความยั่งยืนในทุกสิ่งที่เราทำมาโดยตลอด เราได้ตั้งเป้าหมายในระดับโลกที่จะลดคาร์บอนฟุตพรินท์ (Carbon Footprint) หรือปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และเพิ่มการมีส่วนร่วมของเราในการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลก

วิธีจัดการปัญหาคาร์บอน แหล่งน้ำ ของเสีย และผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมจากการดำเนินงานของเราในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกนั้นแตกต่างกันไปในแต่ละประเทศ เราต้องการสนับสนุนระบบนิเวศในชุมชนที่เราดำเนินการอยู่ ตัวอย่างเช่น ในอินเดีย เราได้ร่วมมือกับองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร (NGOs) ในพื้นที่เพื่อสนับสนุนเงินทุนและช่วยฟื้นฟูบ่อน้ำและทะเลสาบ และปรับปรุงการเข้าถึงน้ำและการสุขาภิบาล

นอกจากนี้ การส่งเสริมการใช้พลังงานสะอาดก็มีส่วนสำคัญที่จะช่วยให้เราลดการปล่อยคาร์บอนจากการดำเนินงานและห่วงโซ่อุปทาน และบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (net-zero emissions) เราคิดว่าเราสามารถสร้างผลกระทบที่จะช่วยขยายการเข้าถึงพลังงานสะอาดในวงกว้างได้ เมื่อสัปดาห์ที่แล้วเราได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกผู้ก่อตั้งของกลุ่มความร่วมมือเพื่อพลังงานสะอาดแห่งเอเชีย (Asia Clean Energy Coalition) ซึ่งเป็นโครงการที่ริเริ่มขึ้นโดยผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจากหลายฝ่ายเพื่อเร่งให้เกิดการเปลี่ยนผ่านไปสู่การใช้พลังงานสะอาดในเอเชียโดยการปรับปรุงนโยบายและสภาพแวดล้อมทางการตลาดในภูมิภาคนี้ ไม่เพียงเท่านี้ เรายังได้มอบเงินสนับสนุนจำนวน 1 ล้านเหรียญสหรัฐฯ จาก Google.org เพื่อสนับสนุนสมาคมผู้ซื้อพลังงานสะอาด (Clean Energy Buyers Association: CEBA) และข้อริเริ่มความต้องการใช้พลังงานสะอาด (Clean Energy Demand Initiative: CEDI) ในการขยายการดำเนินงานในระดับนานาชาติ

บ่อน้ำ Gopinager ในเมืองไฮเดอราบัด ประเทศอินเดีย ซึ่งเป็นแหล่งน้ำสำหรับคนในชุมชน เริ่มเสื่อมโทรมลง Google จึงได้ร่วมมือกับองค์กร NGO ในพื้นที่เพื่อฟื้นฟูบ่อน้ำให้มีสภาพดีขึ้น

บ่อน้ำ Gopinager อยู่ระหว่างการสร้างใหม่เพื่อเสริมความแข็งแกร่ง

บ่อน้ำ Gopinager หลังจากได้รับการฟื้นฟูแล้ว

หลังการฟื้นฟูเสร็จสมบูรณ์ บ่อน้ำ Gopinager ก็เปิดให้ใช้งานทันที ช่วยให้คนในชุมชนมีน้ำใช้

การทำให้ตัวเลือกที่ยั่งยืนเป็นเรื่องง่ายสำหรับทุกคน

จากเทรนด์การค้นหาบน Google Search แสดงให้เห็นว่า ผู้คนทั่วเอเชียแปซิฟิกกำลังมองหาวิธีในการทำสิ่งต่างๆ เพื่อส่งเสริมให้เกิดความอย่างยั่งยืน และเราก็ยังคงเดินหน้าพัฒนาผลิตภัณฑ์และฟีเจอร์ต่างๆ เพื่อให้ผู้คนเลือกตัวเลือกที่ยั่งยืนมากขึ้นในชีวิตประจำวัน

ตัวอย่างเช่น ฟีเจอร์ใหม่ที่เรียกว่า Air Quality ใน Google Search และ Google Maps ใช้ AI ในการแสดงสภาพคุณภาพอากาศในแต่ละวัน ไม่ว่าจะเป็นหมอกควันที่ผิดปกติ หรือควันที่เป็นอันตราย เราได้เปิดตัวฟีเจอร์นี้ในสิงคโปร์เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยใช้ข้อมูลที่น่าเชื่อถือจากสำนักงานสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (National Environment Agency) ของสิงคโปร์ ข้อมูลนี้ช่วยให้ผู้คนตัดสินใจได้ว่าจะออกไปข้างนอกหรืออยู่ในบ้าน และทำให้เกิดความสนใจเกี่ยวกับปัญหามลพิษทางอากาศมากขึ้น  

นอกจากนี้ การผสมผสานระหว่าง AI ข้อมูลที่เชื่อถือได้จากแหล่งที่มาต่างๆ เช่น หน่วยงานด้านการขนส่ง และข้อเสนอแนะจากผู้ใช้ Google Maps ยังช่วยให้เราเสนอตัวเลือกการเดินทางที่ยั่งยืนให้กับผู้ใช้ ข้อมูลเหล่านี้ช่วยให้ผู้คนเข้าใจตารางการเดินรถ ความหนาแน่นของผู้ใช้บริการ และรายละเอียดอื่นๆ เช่น ทางเข้าและทางออก ซึ่งทำให้การเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะเป็นเรื่องง่ายขึ้น ไม่เพียงเท่านี้ เรายังได้เปิดตัวเส้นทางสำหรับการปั่นจักรยานในสิงคโปร์ และอีกหลายเมืองในออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ไต้หวัน และญี่ปุ่น ซึ่งเป็นตัวเลือกการเดินทางที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น

การสนับสนุนให้องค์กรอื่นๆ บรรลุเป้าหมาย

เราคิดว่าเทคโนโลยีที่เรามอบให้กับพันธมิตรสามารถสร้างความแตกต่างที่ยิ่งใหญ่ได้ ไม่ว่าจะเป็นการทำงานร่วมกับเมืองต่างๆ ภาครัฐ บริษัท หรือองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร ผู้ที่ได้รับทุนสนับสนุนจาก Google.org บอกกับเราว่า การใช้ AI ช่วยให้พวกเขาบรรลุเป้าหมายในระยะเวลาเพียง 1 ใน 3 ของระยะเวลาที่ตั้งเป้าไว้ และลดค่าใช้จ่ายได้เกือบครึ่ง 

พันธมิตรอย่างสถาบันทรัพยากรโลก (World Resources Institute) ของอินเดีย ใช้ Google Earth Engine เพื่อสร้างแผนที่และการวิเคราะห์ที่จำเป็นในการวางแผนดำเนินการด้านสิ่งแวดล้อมแบบจำเพาะเจาะจง ในขณะที่ Environmental Insights Explorer ซึ่งเปิดให้ใช้งานใน 17,000 เมืองทั่วเอเชียแปซิฟิก ช่วยให้ภาครัฐสามารถวัดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากแหล่งต่างๆ เพื่อกำหนดกลยุทธ์ที่เหมาะสมในการนำพลังงานที่สะอาดกว่าเดิมมาใช้

ลูกค้าที่ใช้ Google Cloud ไม่เพียงแต่มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนสุทธิจากการดำเนินงานเป็นศูนย์เท่านั้น แต่ยังสามารถใช้เครื่องมือของเราเพื่อลดการปล่อยคาร์บอนของแอปพลิเคชันและโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล ในขณะเดียวกันก็ช่วยขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงทางธุรกิจที่ยั่งยืน ตัวอย่างเช่น ยิ้ม แพลตฟอร์ม ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซด้านอาหารของไทย กำลังใช้ชุดโปรแกรม Carbon Sense ของ Google Cloud เพื่อวัดผล ติดตาม และเปิดเผยการปล่อยคาร์บอน โดยมีเป้าหมายที่จะดำเนินการเพิ่มเติมเพื่อลดผลกระทบนี้ เพื่อก้าวไปสู่การเป็นแพลตฟอร์มค้าปลีกที่ยั่งยืน ด้าน Aruna Fisheries ใช้ Google Cloud เพื่อส่งเสริมการทำประมงอย่างยั่งยืนด้วยการจับคู่ระหว่างอุปสงค์และอุปทานตามข้อมูลเชิงลึก


ไอเดียสามารถเกิดขึ้นได้ทุกที่ ดังนั้น การให้การสนับสนุนองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรและธุรกิจสตาร์ทอัพก็มีความสำคัญเช่นเดียวกัน

เราได้เห็นแล้วว่าการเปลี่ยนแปลงที่แท้จริงสามารถเริ่มต้นได้จากวิธีการแก้ไขปัญหาในท้องถิ่นที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี ซึ่งสามารถนำไปปรับใช้เพื่อรับมือกับความท้าทายในด้านอื่นๆ ได้ จนถึงปัจจุบัน Google.org ได้มอบเงินสนับสนุนแก่องค์กรไม่แสวงหาผลกำไรที่มุ่งเน้นเรื่องความยั่งยืนและปัญหาด้านสภาพภูมิอากาศในเอเชียแปซิฟิกไปแล้วกว่า 14 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในอินโดนีเซีย Google.org ให้การสนับสนุน Edu Farmers International Foundation ซึ่งเป็นองค์กรที่ให้ความรู้แก่เกษตรกร และนำเทคโนโลยีแมชชีนเลิร์นนิงไปต่อยอดเพื่อให้ได้ผลผลิตสูงสุด นอกจากนี้ Google.org ยังให้เงินสนับสนุนแก่โครงการอาหารโลก สหรัฐอเมริกา (World Food Program USA: WFP USA) เพื่อสนับสนุนการทำงานของโครงการอาหารโลกแห่งสหประชาชาติ (World Food Program: WFP) ในอินโดนีเซีย ซึ่งช่วยให้รัฐบาลและชุมชนต่างๆ สามารถคาดการณ์และตอบสนองต่อเหตุการณ์สภาพอากาศสุดขั้ว (Extreme Weather Events) ได้ดียิ่งขึ้น ซึ่งจะช่วยให้มีความมั่นคงทางอาหาร (Food Security) มากขึ้น  

หากคุณเป็นองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรที่ทำงานเพื่อต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศหรือขับเคลื่อนความยั่งยืน เราขอแนะนำให้คุณสมัครขอรับทุนผ่านโครงการ APAC Sustainability Seed Fund ที่ดำเนินการโดยเครือข่ายนักลงทุนเพื่อสังคมแห่งเอเชีย (Asian Venture Philanthropy Network: AVPN) ภายใต้การสนับสนุนจาก Google.org และธนาคารพัฒนาเอเชีย (Asian Development Bank: ADB) ซึ่งโครงการนี้มีเป้าหมายเพื่อสนับสนุนองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรโดยใช้เทคโนโลยีอุบัติใหม่ (Emerging Technology) เพื่อแก้ไขปัญหาความท้าทายด้านสภาพภูมิอากาศในท้องถิ่นทั่วเอเชียแปซิฟิก ด้านสตาร์ทอัพที่แสวงหาผลกำไรสามารถเข้าถึงเงินทุนผ่านโครงการ Google for Startups Accelerator: Circular Economy ซึ่งเปิดโอกาสให้องค์กรต่างๆ ที่สร้างสรรค์นวัตกรรมสู่โลกที่ปราศจากขยะสมัครเข้าร่วมโครงการ  

ในขณะที่เรามองไปไกลกว่า COP27 และมุ่งไปสู่อนาคตนั้น เราก็รู้สึกมีความหวัง งานของเราสอนให้เรารู้ว่าการร่วมมือกันทำให้เกิดความแข็งแกร่ง และพลังของเทคโนโลยี โดยเฉพาะ AI สามารถช่วยแก้ไขปัญหาความท้าทายต่างๆ ที่เรากำลังเผชิญอยู่ได้ ความร่วมมือระหว่างภาคธุรกิจ ชุมชน ผู้กำหนดนโยบาย และปัจเจกบุคคล แสดงให้เห็นว่าเราสามารถไปได้ไกลกว่านี้เมื่อเราร่วมกันแก้ไขปัญหาเพื่อความยั่งยืน

Scott Beaumont

President Asia Pacific, Google




3 ความคิดเห็น:

  1. เล่นง่ายได้เงินจริง บาคาร่า Goatbet

    ตอบลบ
  2. เว็บพนัน มีแอดมินคอยให้บริการตลอด24ชั่วโมง

    ตอบลบ
  3. บาคาร่าออนไลน์ ยอดนิยมที่คนเล่นเยอะที่สุด ฝาก-ถอนระบบออโต้ สมัครสมาชิกได้ด้วยตนเอง

    ตอบลบ